top of page
Search

8 จุดตายในเรซูเม่ (Red flags)

  • Career Simplified
  • Oct 31, 2017
  • 1 min read

“ส่งเรซูเม่สมัครงานไปหลายบริษัทแล้ว แต่ไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์เลย!” นี่เป็นปัญหาที่ผู้สมัครงานจำนวนมากพบเจอ บางคนเจอเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ แต่บางคนก็อาจจะต้องเผชิญกับประสบการณ์ที่น่ากังวลใจแบบนี้เป็นเวลานานหลายเดือน หรือเป็นปี มันช่างเป็นช่วงเวลาที่มืดมนมากๆ เป็นไปได้ว่าในเรซูเม่มี ‘ปัญหา’ บางอย่างซึ่งเกาะหนึบอยู่ในเอกสารแนะนำตัวของเรา วันนี้เรามาเรียนรู้กันดีกว่าปัญหาหลักๆ นั้นมีอะไรบ้าง ก่อนอื่น ในสายตาของเจ้าหน้าที่รีครูท เรซูเม่นับร้อยๆ ฉบับในมือ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1. A killer resume 2. A resume killer

A killer resume หมายถึงเรซูเม่ที่เจ้าหน้าที่รีครูทอ่านแล้วรู้สึก ‘ใช่’ โดนใจ ผู้สมัครแบบนี้ละที่บริษัทกำลังมองหาอยู่ ส่วน a resume killer ก็คือเรซูเม่ที่เจ้าหน้าที่รีครูทอ่านแล้วส่ายหน้า (บางครั้งแค่มองดูผ่านๆ ก็เบ้หน้าแล้วค่ะ) เรซูเม่แบบหลังนี่แหละที่มี ‘ปัญหา’ และยากจะผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ ถ้าอย่างนั้นมีปัญหาอะไรบ้างที่จะทำให้เรซูเม่ของเรากลายเป็น a resume killer

8 จุดตายในเรซูเม่

1. ว่างงานมานาน โดยทั่วไปนายจ้างต้องการคนที่มีประสบการณ์ทำงานต่อเนื่อง ถ้าผู้สมัครว่างงานหลายเดือนก็ยังพอรับได้ แต่หากว่างงานมาเป็นปีๆ อันนี้เริ่มมีปัญหาแล้วค่ะ เจ้าหน้าที่รีครูทจะตั้งข้อสงสัยถึงเหตุผลที่ว่างงาน

2. ใช้อีเมลที่ไม่เป็นทางการ การสมัครงานเป็นส่วนหนึ่งของการติดต่อทางธุรกิจ ดังนั้นอีเมลที่ใช้ควรเป็นชื่อ-นามสกุล โดยควรเขียนชื่อเต็มคำ ส่วนนามสกุลจะใช้อักษรย่อก็ได้

3. ใช้ภาษาผิดไวยากรณ์ / ไม่สุภาพ เรซูเม่ที่เขียนมาแบบผิดๆ ถูกๆ หรือใช้สำนวนภาษาที่สะท้อนความโอ้อวด ก้าวร้าว คงจะไม่มีใครทนอ่านได้จบ โปรดเห็นใจเจ้าหน้าที่รีครูทที่ต้องนั่งอ่านเรซูเม่จำนวนมากมายในแต่ละวันด้วยนะคะ อย่าถึงกับต้องให้พวกเขาอ่านไปกินยาพาราฯ ไปด้วยเลย

4. ไม่มีทักษะที่ต้องการ การยื่นสมัครงานโดยที่ตนเองไม่มีคุณสมบัติหรือทักษะที่เหมาะสมกับตำแหน่งนั้นๆ เจ้าหน้าที่รีครูทจะมองว่าผู้สมัครเขาดความสนใจรายละเอียด (ในประกาศรับสมัครงาน) และไม่จริงจังกับตำแหน่งที่ยื่นสมัคร

5. เปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น จริงๆ การเปลี่ยนงานเป็นเรื่องปกติค่ะ โดยเฉพาะช่วงอายุต่ำกว่า 30 ซึ่งเป็นระยะเวลาค้นหาตัวตน แต่หากอายุมากแล้วยังเปลี่ยนงานไปมา มันอาจสะท้อนว่าผู้สมัครไม่มีเป้าหมายที่แน่นอนในการทำงาน ยากจะเป็นกำลังสำคัญขององค์กร

6. ฟอร์แมตดูยุ่งเหยิง ฟอร์แมตของรีซูเม่ควรจัดให้เป็นระเบียบ อ่านง่าย และใช้มาตรฐานเดียวกันตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่จำเป็นต้องใช้สีสันฉูดฉาด หรือการตกแต่งที่อลังการ ยกเว้นกรณีสมัครงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น งานออกแบบ อาจใช้เรซูเม่แบบกราฟิกได้

7. ใช้เรซูเม่แบบเน้นทักษะ ภาษาอังกฤษเรียกว่า functional resume ซึ่งจะระบุทักษะประสบการณ์ออกมาเป็นข้อๆ แต่ไม่ระบุวัน เดือน ปี ในประวัติการจ้างงาน เจ้าหน้าที่รีครูทส่วนใหญ่ยังยึดถือเรซูเม่แบบระบุวัน เดือน ปี เป็นมาตรฐาน เพราะสามารถเห็นภาพรวมของพัฒนาการในการทำงานได้ง่าย เรซูเม่แบบเน้นทักษะมักถูกตั้งแง่ว่าผู้สมัครงานกำลังอำพรางข้อเท็จจริงบางอย่าง

8. ไม่ระบุความสำเร็จที่จับต้องได้ ในโลกของการทำงาน การทำหน้าที่ให้สำเร็จ (results orientation) เป็นสิ่งสำคัญมาก นายจ้างมักจะมองหาผู้สมัครที่เคยทำ ‘อะไร’ ประสบความสำเร็จมาก่อน ซึ่งเจ้า ‘อะไร’ ที่ว่าอาจจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ได้ อยู่ที่วิธีนำเสนอของเราว่าน่าสนใจแค่ไหน มาถึงตรงนี้ต้องขอแสดงความยินดีกับผู้อ่านที่ไม่มีปัญหา 8 ข้อข้างต้นในประวัตินะคะ ส่วนท่านที่พบปัญหาก็ยิ่งต้องขอแสดงความยินดีค่ะ เพราะนี่เป็นโอกาสที่ท่านจะได้หาทางกำจัด ‘จุดอ่อน’ ปรับปรุงเรซูเม่ให้ดียิ่งขึ้น ไม่ปล่อยให้มันเกาะหนึบเป็นตัวนำโชค (ร้าย) มาสู่เราอีกต่อไป แน่นอนว่าปัญหาบางข้อแก้ไขไม่ได้ แต่เราสามารถลดทอนความรุนแรง โดยใช้พื้นที่ในเรซูเม่หรือจดหมายสมัครงานให้เป็นประโยชน์ อธิบายจุดบกพร่องต่างๆ ในเชิงบวกได้ค่ะ

 
 
 

Commenti


Archive
Search By Tags

© 2023 by Career Simplified

bottom of page