top of page
Search

เจ้าหน้าที่ HR/รีครูท กวาดตาดูอะไรในเรซูเม่

  • Career Simplified
  • Oct 31, 2017
  • 1 min read

รูปถ่าย # ชื่อ-นามสกุล # ตำแหน่งงานและบริษัทในปัจจุบัน # คำสำคัญในประกาศรับสมัครงาน # ตำแหน่งงานและบริษัทในอดีต # ปีที่ทำงาน # ประวัติการศึกษา คุณรู้หรือไม่ ว่าเจ้าหน้าที่รีครูทมืออาชีพใช้เวลาเพียงประมาณ 1 นาที ในการกวาดตาดูจุดสำคัญๆ ข้างต้น เพื่อคัดกรองผู้ยื่นสมัครในรอบแรก (Screen) คราวนี้เรามาดูกันในรายละเอียดว่าในแต่ละจุด เจ้าหน้าที่รีครูทเขาดูอะไร

สิ่งที่เจ้าหน้าที่รีครูทมองหาในเรซูเม่

1. รูปถ่าย และ ชื่อ-นามสกุล จริงๆ โดยเนื้อแท้ก็ไม่ค่อยสำคัญเท่าไหร่ค่ะ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปถ่าย (หน้าตาดี) และนามสกุล (ดัง) เป็นจุดที่จะทำให้เจ้าหน้าที่รีครูท ‘สะดุดตา’ ได้ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ discrimination เป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้าพูด แต่มันมีอยู่จริง

2. ตำแหน่งงานและบริษัทในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่รีครูทต้องการดูว่าคุณข้ามสายหรือเปล่า มีประสบการณ์ที่สอดคล้องและเพียงพอไหม ชื่อเสียงของบริษัทเป็นอย่างไร

3. คำสำคัญในประกาศรับสมัครงาน คำสำคัญในที่นี้ก็คือทักษะหรือประสบการณ์ที่เจ้าหน้าที่รีครูทใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดกรองค่ะ เช่น #การบริหารโครงการ # การใช้ Excel # CPA # TOEIC score ฯลฯ ผู้สมัครที่ใส่คำสำคัญตรงตามที่รีครูทต้องการจะมีโอกาสผ่านเข้ารอบสูงมากกว่าคนที่เขียนเรซูเม่แบบแกนๆ ไร้ความเฉพาะเจาะจงค่ะ

4. ตำแหน่งงานและบริษัทในอดีต เจ้าหน้าที่รีครูทจะใช้ภูมิหลังการทำงานประเมินศักยภาพในภาพรวมของตัวผู้สมัคร นอกจากนี้หากทำงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงมาตลอด หรือเริ่มจากชื่อเสียงน้อยไต่ขึ้นไปบริษัทใหญ่ ก็จะดูเครดิตดี ดูรักความก้าวหน้ามีพัฒนาการ

5. ปีที่ทำงาน สามารถใช้ดูนิสัยการทำงานได้ค่ะ ว่าเปลี่ยนงานบ่อยไหม ถ้าบ่อย เพราะอะไร มีอะไรน่าสงสัยหรือเปล่า ที่สำคัญคือช่องว่างระหว่างปี หากมีช่วงที่ว่างงานนานๆ และไม่มีคำอธิบายที่ดีพอ รีซูเม่ก็อาจถูกเขี่ยลงถังได้ค่ะ

6. ประวัติการศึกษา เบื้องต้นคือดูว่าเรียนมาตรงสายงานไหม ผลการเรียนเป็นอย่างไร ส่วนเรื่อง ‘ชื่อและสี’ อันนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรเลยค่ะ แต่จะมีผู้สมัครสักกี่คนล่ะ ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมในทุกๆ ข้อ ผู้สมัครงานจึงไม่ควรกังวลมากเกินไปนะคะ เพราะจริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่รีครูทเองก็รู้ดีแก่ใจว่ายากที่จะค้นพบ 'ผู้สมัครในฝัน' ดังนั้นในทางปฏิบัติคุณสมบัติแต่ละข้อมันก็จะถัวๆ เฉลี่ยๆ กันได้ ที่สำคัญจริงๆ คือผู้สมัครต้องรู้จักกลยุทธ์ในการนำเสนอตัวเอง หากรู้ว่าเรซูเม่ของตนมีข้อด้อยตรงไหน ก็ต้องหาข้อเด่นมาถัวให้ได้ ตัวอย่าง ถ้าบริษัทที่เคยทำงานด้วยเป็นบริษัทเล็กๆ ไร้ชื่อเสียง ก็ต้องเสริมจุดเด่นด้วยการเขียน ‘ความสำเร็จ’ หรือ ‘ชิ้นงานที่เคยทำ’ ให้ดูเตะตามากกว่าชื่อบริษัท สุดท้าย เรซูเม่จะต้องเป็นเรซูเม่ที่เขียนเพื่อสมัครงานตำแหน่งนั้นจริงๆ นี่ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเริ่มต้นเขียนเรซูเม่ใหม่ทุกครั้งที่ส่งเมลสมัครงาน ในความเป็นจริงทุกๆ คนมีประวัติย่อของตัวเองในมืออยู่แล้ว แต่ก่อนที่จะส่งไปสมัครงานที่ไหนก็ควร ‘ปรับ’ รายละเอียดให้สอดคล้องกับตำแหน่งและบริษัทที่เรากำลังยื่นใบสมัครด้วยทุกครั้ง

 
 
 

Komentáře


Archive
Search By Tags

© 2023 by Career Simplified

bottom of page